วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พระแสงดาบญี่ปุ่น

พระแสงดาบญี่ปุ่น

จาก ThaiPoliticsGovernment

ข้ามไปที่: นำทาง, ค้นหา
ผู้เรียบเรียงพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ภาพ:พระแสงดาบญี่ปุ่น.png‎

ลักษณะ

โลหะ,ไม้, ผ้า, หนังสัตว์
87.0 เซนติเมตร
ด้ามดาบหุ้มและถักด้วยด้วยหนังสัตว์ ปลายและโกร่งดาบทำด้วยโลหะสีเงิน มีลวดลายทิวทัศน์แบบญี่ปุ่น ดาบทำด้วยโลหะผสม โคนดาบหุ้มด้วยเงินแกะสลักลายมังกร ภูเขา และตัวอักษรญี่ปุ่น ตัวฝักทำด้วยไม้ลงรักสีน้ำตาล กลางปลอกฝักทำด้วยโลหะสีทองมีลวดลาย โคนและใต้ปลอกหุ้มด้วยโลหะเงินแกะลวดลาย ตรงกลางปลอกมีห่วงคล้องเชือก ปลอกด้านล่างมีปลอกเงินสำหรับใส่ที่ลับมีดสลักตัวอักษรญี่ปุ่น และมีลวดลาย มีเชือกถักทำด้วยผ้า ส่วนขาตั้งทำด้วยไม้กลึง

ประวัติความเป็นมา

พระแสงดาบญี่ปุ่นโบราณองค์นี้ จัดเป็นพระแสงดาบที่มีแนวเส้นโค้งงดงาม มีลักษณะที่สมดุลดี สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระแสงดาบญี่ปุ่นโบราณที่เสนาบดีญี่ปุ่นทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467 ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา[1]
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องดาบญี่ปุ่นได้กำหนดอายุพระแสงดาบนี้ไว้ในสมัยเมจิ หรือในราว ค.ศ. 1862 – 1912 ซึ่งเป็นสมัยที่ประเทศญี่ปุ่นออกฎหมายห้ามซามูไรพกดาบติดตัว และนับแต่นั้นมา ดาบญี่ปุ่นได้กลายเป็นสมบัติอันล้ำค่าทั้งทางด้านความงามและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ซึ่งหาได้ยากยิ่ง
ดาบญี่ปุ่นทำขึ้นด้วยกรรมวิธีการผลิตที่เป็นของญี่ปุ่นเอง คือ นำโลหะ 2 – 3 ชนิดมาเผา และตีครั้งแล้วครั้งเล่า จนได้ดาบที่มีความแข็งแกร่ง การเผาหลายๆ ครั้งจะช่วยให้ดาบแข็งแกร่งขึ้น และขั้นตอนสุดท้ายคือนำไปขัด
ดาบญี่ปุ่นที่มีลักษณะเป็นรูปโค้งและมีคมเพียงด้านเดียวนี้ ผลิตขึ้นในสมัยเฮอันและสมัยคะมะคุระ เส้นโค้งอันงดงาม รูปลักษณะที่สมดุล เพิ่มความงดงามให้แก่ดาบญี่ปุ่นเป็นอย่างยิ่ง ดาบญี่ปุ่นกลายเป็นอาวุธสำคัญเคียงคู่ซามูไรมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 11 – 18 โดยมีกฎระเบียบว่า ผู้ที่ไม่ใช่ซามูไรไม่มีสิทธิ์พกดาบ คำว่า “ซามูไร” หมายถึง นักรบผู้รับใช้โชกุนหรือไดเมียว ซามูไรจะซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อเจ้านาย และมีการสร้างหลักจริยธรรมของซามูไรขึ้น ซึ่งเป็นคุณธรรมที่นักรบทุกคนจะต้องให้ความสำคัญและยึดถือปฏิบัติ ลัทธิบูชิโดจึงถือกำเนิดเกิดขึ้น “บูชิโด” แปลว่า วิถีทางของนักรบ ( Bushi = นักรบ Do = วิถีทาง ) ซึ่งนักรบทุกคนจะต้องยึดถือและปฏิบัติตาม หลักจริยธรรมเหล่านี้พัฒนามาจากคำสอน ความคิด และความเชื่อของพระพุทธศาสนา ลัทธิขงจื๊อ และลัทธิชินโต สิ่งหนึ่งซึ่งซามูไรถือเป็นคติประจำใจ คือ “การตายเยี่ยงวีรบุรุษในสงคราม” ซามูไรจะพกดาบ 2 เล่มเสมอ คือ ดาบยาวและดาบสั้น ดาบยาวสำหรับต่อสู้ศัตรู ดาบสั้นสำหรับตัดศีรษะคู่ต่อสู้ที่มีศักดิ์เหนือตนเอง หรือเพื่อเกียรติยศของตนเอง
ต่อมาในราว ค.ศ. 1854 อเมริกาและยุโรปเริ่มแผ่ขยายการค้ามาทางเอเชีย และประเทศอเมริกาได้ส่งนายพลแมทธิว ซี เพอร์รี ( Matthew C. Perry ) พร้อมเรือรบ 4 ลำ มาบีบบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศ ในเวลานั้นซามูไรหลายพันคนได้พร้อมใจกันต่อสู้ แต่ก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้เพราะอเมริกาใช้ปืนต่อสู้ที่ทรงอานุภาพสูงเข้ามาด้วย ญี่ปุ่นจึงยอมเปิดประเทศและทำสนธิสัญญากับอเมริกาและประเทศแถบยุโรป ในสมัยแรกๆ ของการเปิดประเทศซามูไรยังคงมีสิทธิ์พกดาบเป็นอาวุธคู่กาย ต่อมาใน ค.ศ. 1876 สมัยเมจิ รัฐบาลได้ออกกฎหมายห้ามพกดาบ ซามูไรจึงลดบทบาทลง และดาบจึงมิได้ถูกนำมาใช้ในการสู้รบอีกเลย แต่กลับกลายเป็นสมบัติอันล้ำค่าทั้งด้านความงามและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ซึ่งหาได้ยากอย่างยิ่ง[2]

อ้างอิง

  1. คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์, จดหมายเหตุพระราชกรณียกิจรายวัน ระหว่าง พ.ศ. 2468 –2471, (กรุงเทพฯ : วัชรินทร์การพิมพ์, 2537).
  2. วิสันธนี โพธิสุนทร และประพิศ พงศ์มาศ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 168-169.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น